messager
โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านหว้า
รายละเอียด : วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นายสมนึก ไกรสมดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหว้า เป็นประธานในการเปิดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านหว้า โดยวิทยากรจาก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหว้า ให้ความรู้เรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย การให้ความเรื่องการป้องกันท้องในวัยเรียน ปัจจัยป้องกันปัญหาวัยรุ่น 1.ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคทางร่างกาย มีความแข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 2.สติปัญญา มีความคิดเป็นแบบนามธรรม นั่นคือมีความสามารถเรียนรู้ เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ได้ลึกซึ้งขึ้น มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามลำดับ เมื่อพ้นวัยรุ่นแล้ว จะมีความสามารถทางสติปัญญาได้เหมือนผู้ใหญ่ ในช่วงระหว่างวัยรุ่นความคิดยังอาจขาดความรอบคอบ ขาดการยั้งคิดหรือไตร่ตรองให้รอบคอบ คิดรวดเร็วแบบหุนหันพลันแล่น เมื่อโตขึ้นจะมีความคิดที่สมบูรณ์ขึ้น คิดรอบด้านได้มากขึ้น โดยเรียนรู้สะสมจากประสบการณ์ต่างๆในชีวิต และสามารถคิดคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ประเมินตนเอง ประเมินความเสี่ยงได้แม่นยำและวางแผนชีวิตตนเองได้ 3.เอกลักษณ์ เป็นตัวกำหนดเป้าหมายชีวิต แสดงออกเป็นพฤติกรรมเกี่ยวกับสิ่งตนเองชอบ ถนัด ซึ่งจะแสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาที่โดดเด่นมากขึ้น ได้แก่ วิชาที่ชอบเรียน กีฬาที่ชอบเล่น งานอดิเรก การใช้เวลาว่างให้เกิดความเพลิดเพลิน กลุ่มเพื่อนที่ชอบและสนิทสนมด้วย โดยจะเลือกคบคนที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน หรือเข้ากันได้ และเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดแบบอย่างจากกลุ่มเพื่อน ทั้งแนวคิด ค่านิยม ระบบจริยธรรม การแสดงออกและการแก้ปัญหาในชีวิต พัฒนาเป็นเอกลักษณ์และบุคลิกภาพ มีหลายด้าน ได้แก่ เอกลักษณ์ทางเพศ ความชื่นชอบในแฟชั่น ดารา นักร้อง การแต่งกาย ความเชื่อในศาสนา อาชีพ คติประจำใจ และเป้าหมายในการดำเนินชีวิต วัยรุ่นที่ไม่มีเอกลักษณ์ของตน จะขาดแนวทางหรือเป้าหมายในชีวิตตน และขาดความสุขในการการดำเนินชีวิตต่อไป สับสนในตนเอง ไปแบบไม่มีเป้าหมาย ไม่สามารถเลือกเรียนหรืออาชีพที่ตนเองมีความสุข บางคนเลือกเรียนไม่ตรงกับความชอบความถนัดทำให้ไม่ประสบความสำเร็จหรือต้องเปลี่ยนการเรียน วัยรุ่นจะแสดงความเป็นตัวของตัวเอง รักอิสระ เสรีภาพ ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาใดๆ สร้างและแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ชอบคิดเอง ทำเอง พึ่งตัวเอง เชื่อความคิดตนเอง อยากรู้อยากเห็นอยากลอง ถ้าผู้ใหญ่(พ่อแม่หรือครูอาจารย์)บังคับมาก อาจเกิดความหงุดหงิดต่อต้าน เถียง ดื้อ ต่อต้านหรือมีปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรง ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองจะมีสูงสุดในวัยนี้ อยากหรือความรู้สึกโดยขาดการยั้งคิด หรือเมื่อตัวเองคิดแล้วก็อยากทำตามความคิดตนเองโดยขาดการไตร่ตรองให้รอบคอบ ทำให้อาจเกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่าย จึงต้องระมัดระวัง และป้องกันการเกิดพฤติกรรมเสี่ยงโดยมีการฝึกให้คิดก่อนทำ ควบคุมความคิดได้ ไม่ทำตามความอยาก พฤติกรรมต้องมีการกำกับควบคุมตามสมควรให้อยู่ในความปลอดภัย และอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาของส่วนรวม 4.เป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น วัยนี้ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนอย่างมาก การได้รับการยอมรับจะช่วยให้เกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย เห็นคุณค่าของตนเอง มั่นใจตนเอง วัยนี้จึงมักอยากเด่นอยากดัง อยากให้มีคนรู้จักมากๆ อาจทำอะไรเพื่อให้คนอื่นสนใจ ถ้ามีจุดดีจุดเด่นให้เพื่อนๆยอมรับได้ จะเป็นที่รักของเพื่อนๆ การมีจุดเด่นนี้ ไม่จำเป็นต้องดีเด่นชนะคนอื่น หรือเด่นจากการแข่งขันให้ชนะเหนือใครๆ แต่สามารถดีเด่นในเรื่องการเป็นคนดี มีประโยชน์ นิสัยดี เป็นที่รัก มีความโอบอ้อมอารี เต็มใจช่วยเหลือเพื่อน มองเพื่อนในแง่ดี มีทักษะการสื่อสารที่ดีต่อกัน 5.ความภาคภูมิใจตนเอง วัยรุ่นจะพอใจและภูมิใจที่ตนเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนอื่นๆได้ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ทำอะไรได้สำเร็จ เป็นคนดีและมีประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ ทักษะการทำประโยชน์แก่เพื่อนๆเป็นทักษะสำคัญที่ควรมี การมีเพื่อนดี จะช่วยกันสร้างความภาคภูมิใจให้แก่กัน การเลือกคบเพื่อนที่ดี เพื่อนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จะช่วยให้มีความมั่นใจ ภูมิใจตนเอง 6.ควบคุมตนเอง วัยนี้เรียนรู้ที่จะควบคุมความคิด อารมณ์ การกระทำ และการแก้ปัญหาให้อยู่ในกรอบกติกา ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน การรู้จักยั้งคิด การคิดให้เป็นระบบจะทำให้ใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เนื่องจากวัยนี้มีแรงขับดันทางเพศ ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองสูง จึงจำเป็นต้องฝึกให้วัยรุ่นรู้จักยั้งคิด ชะลอความต้องการ ไม่ด่วนตัดสินใจ ช่วยให้เกิดความรอบคอบและปลอดภัย 7.จัดการอารมณ์ อารมณ์ในวัยนี้เปลี่ยนแปลงง่ายและเร็ว ทำให้เห็นพฤติกรรมหงุดหงิดง่าย เครียดง่าย โกรธง่าย อาจเกิดอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ อาจทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว เกเร ส่งผลต่อการเรียนและการดำเนินชีวิตได้ ในวัยรุ่นตอนต้น การควบคุมอารมณ์ที่ยังไม่ค่อยดีทำให้ทำอะไรตามใจ ทำตามอารมณ์ตัวเอง พฤติกรรมเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ความรู้สึกหรืออารมณ์ทางเพศ ทำให้วัยรุ่นสนใจใฝ่รู้เรื่องทางเพศ หรือมีพฤติกรรมทางเพศ เช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง เป็นการระบายความรู้สึกทางเพศ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัยนี้ แต่พฤติกรรมบางอย่างอาจเป็นปัญหาตามมา เช่น เบี่ยงเบนทางเพศ กามวิปริต หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น วัยรุ่นควรรู้ว่าจะควบคุมอารมณ์ต่างๆเหล่านี้อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาพฤติกรรม 8.จริยธรรม วัยนี้จะมีความคิดเชิงอุดมคติสูง ถ้าได้รับการเลี้ยงดูที่ดีจะสามารถแยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้ มีระบบมโนธรรมของตนเอง มีความต้องการให้เกิดความถูกต้อง ความชอบธรรมในสังคม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ต้องการเป็นคนดี เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น และจะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับความไม่ถูกต้องในสังคม หรือในบ้าน แม้แต่พ่อแม่ของตนเองก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป บางครั้งอาจจะแสดงออกไม่เหมาะสม เช่น วิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่หรือ ครูอาจารย์ตรงๆอย่างรุนแรง การต่อต้านประท้วงจึงเกิดได้บ่อยในวัยนี้ เมื่อวัยรุ่นเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง หรือมีการเอาเปรียบ เบียดเบียน ความไม่เสมอภาคกัน แม้ว่าวัยรุ่นจะรู้จักผิดชอบชั่วดี แต่ในวัยรุ่นตอนต้นการควบคุมตนเองอาจยังไม่ดีนัก ทำให้ทำผิดพลาดจากการขาดการควบคุมตนเอง การฝึกให้วัยรุ่นอยู่ในขอบเขตที่ดีจึงจะช่วยให้การควบคุมตนเองจะดีขึ้น เมื่อพ้นวัยรุ่นจะมีจริยธรรมที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่ 9.ทักษะสังคม วัยรุ่นจะเริ่มออกห่างจากครอบครัว ไม่ค่อยสนิทสนมคลุกคลีกับพ่อแม่พี่น้องเหมือนเดิม แต่จะสนใจเพื่อนมากกว่า ใช้เวลากับเพื่อนนานๆ มีกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ไม่อยากไปไหนกับพ่อแม่ เริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม มีเพื่อนต่างเพศ สนใจสังคมสิ่งแวดล้อม และเรียนรู้ที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์กติกาของกลุ่มและสังคมได้ดีขึ้น มีทักษะสังคม ได้แก่ การสื่อสารเจรจา การแก้ปัญหา การประนีประนอม การยืดหยุ่นโอนอ่อนผ่อนตามกัน และการทำงานร่วมกับผู้อื่น พัฒนาการทางสังคมที่ดีจะเป็นพื้นฐานมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และบุคลิกภาพที่ดี การเรียนรู้สังคมจะช่วยให้ตนเองหาแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะกับตนเอง เลือกวิชาชีพที่เหมาะกับตน และมีครอบครัวที่ดี ช่วยกันดูแลสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อตนเองและส่วนรวมในอนาคตต่อไป
ผู้โพส : นภัสวรรณ